วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ใบเตย…มีดีที่ไม่ใช่แค่กลิ่นหอม

“กลิ่นใบเตย หอมชื่นใจ” …ก็แหมเวลาเราได้กลิ่นหอม ๆ ของใบเตย หรือ “เตยหอม” ผสมอยู่ในขนมไทยทีไร ก็ชวนให้เราอยากคว้าขนมไทยชิ้นนั้นขึ้นมาหม่ำไปซะที (ปกติก็ชอบหม่ำอยู่แล้ว อิอิ)

สำหรับ “เตยหอม” นั้น ทุกคนน่าจะรู้จักกันดีใช่ไหมล่ะจ๊ะ โดยเฉพาะ “ใบเตย” ที่มักถูกนำมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน แถมยังช่วยแต่งสีเขียวให้กับขนมไทยด้วย ซึ่งคนทั่วไปอาจจะรู้ว่าประโยชน์ของ “เตยหอม” มีเพียงเท่านี้ แต่จริง ๆ แล้ว นอกจาก “เตยหอม” จะมีดีที่ความหอมแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาที่ดีต่อสุขภาพแฝงอยู่ด้วยนะ


โดย “ใบเตยหอม” 100 กรัม จะให้พลังงานถึง 35 กิโลแคลอรี และยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

น้ำ 85.3 กรัม

คาร์โบไฮเดรต 4.6 กรัม

โปรตีน 1.9 กรัม

ไขมัน 0.8 กรัม

กาก 5.2 กรัม

แคลเซียม 124 มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม

เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม

เบต้า-แคโรทีน 2.987 ไมโครกรัม

วิตามินบี 2 0.20 มิลลิกรัม

ไนอะซีน 1.2 มิลลิกรัม

วิตามินซี 8 มิลลิกรัม




มาที่สรรพคุณสุดแสนจะน่าอัศจรรย์ของเตยหอมกันบ้าง นอกจากจะนำ “ใบ” มาใช้ผสมอาหาร แต่งกลิ่น ให้สีเขียวแล้ว ผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ยังพบว่า “เตยหอม” มีฤทธิ์ทางยาด้วย ดังนี้

ใบ

ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เพราะใบเตยมีฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ จึงช่วยบำรุงหัวใจได้อย่างดี วิธีรับประทานคือ ใช้ใบสดผสมในอาหาร แล้วรับประทาน หรือนำใบสดมาคั้นน้ำรับประทาน ครั้งละ 2-4 ช้อนแกง

ช่วยดับกระหาย เนื่องจากใบเตยมีกลิ่นหอมเย็น หากนำมาผสมน้ำรับประทาน จะช่วยดับกระหาย คลายร้อน ทานแล้วรู้สึกชื่นใจ และชุ่มคอได้เป็นอย่างดี วิธีรับประทานคือ นำใบเตยสดมาล้างให้สะอาด นำมาตำหรือปั่นให้ละเอียด แล้วเติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาแต่น้ำดื่ม

รักษาโรคหัด หรือ โรคผิวหนัง โดยนำใบเตยมาตำแล้วมาพอกบนผิว

รากและลำต้น

ใช้รักษาโรคเบาหวาน เพราะรากและลำต้นของเตยหอมนั้น มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด วิธีรับประทานก็คือ ใช้ราก 1 กำมือนำไปต้มเป็นน้ำดื่ม ทุกเช้า-เย็น

ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยการนำต้นเตยหอม 1 ต้น หรือราก ครึ่งกำมือ ไปต้มกับน้ำดื่ม

นอกจากนี้ เตยหอม ยังช่วยแก้อ่อนเพลีย ดับพิษไข้ และชูกำลังได้อีกด้วย เห็นสรรพคุณมากมายขนาดนี้แล้ว ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาจริง ๆ สำหรับเจ้าพืชสีเขียวใบเรียวชนิดนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น