ชาวไทยที่ต้องประสบกับน้ำท่วมทุกหลังคาเรือนต้องพบกับความทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัส ทุกข์เฉพาะหน้า คือ ขาดแคลนเรื่องอยู่ เรื่องกิน ต้องรอคอยความช่วยเหลือที่หยิบยื่นให้จากภาครัฐและเพื่อนพ้องชาวไทย
น้ำมาครั้งนี้ ข้าวของเครื่องใช้ ยานพาหนะ ที่ต้องหามาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ต้องสูญหายไปกับสายน้ำในทันควันไม่ทันตั้งตัว เป็นการสูญเสียที่ไม่มีใครคาดคิดหรือเตรียมตัวได้ทัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาครั้งหนึ่งก็สร้างความเศร้าโศกให้กับผู้ประสบภัยไม่น้อย ไหนจะเสียบ้าน บางคนก็ต้องเสียของรัก ของสะสมที่หายาก อุปกรณ์เครื่องมือที่ซื้อหามาด้วยเงินทอง ที่บางคนอาจต้องหาเงินเป็นปีกว่าจะซื้อมาได้ เรื่องแบบนี้บางทีอาจรับได้ยากเกินในทันที เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เตรียมใจไว้ตั้งรับ ยังไม่หมดทุกข์เพียงเท่านั้น ยังมีทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ "สุขภาพจิต" คือ เกิดความวิตกกังวล เกิดความซึมเศร้า เกิดความหวาดผวา ประสาทหลอน มิใช่เฉพาะผู้ใหญ่อย่างเรา ยังกระทบไปถึงเด็กและเยาวชน ที่อาจต้องสูญเสีย พลัดพรากจากผู้ปกครองหรือญาติพี่น้องอย่างไม่คาดฝัน
หลังจากน้ำลดอาจจะมีการเยียวยา โดยเฉพาะในด้านทรัพย์สินหากได้รับเต็มกำลังเรื่องก็จบ แต่การเยียวในเรื่องจิตใจไม่ง่าย และรัฐบาลอาจจะละเลย
ทั้งนี้ นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนกุล ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงและเป็นบริเวณกว้างนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต เสียทรัพย์สิน ไร่นาเสียหาย สูญเสียแหล่งรายได้ ขาดแหล่งอาหาร เจ็บป่วยและเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ถนนหนทางการเดินทางและการติดต่อสื่อสารต่างๆ ขัดข้อง ซึ่งความเสียหายเหล่านี้จะยังคงอยู่ และอาจปรากฏผลชัดเจนขึ้นแม้เมื่อน้ำลดลงแล้ว
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กระทบต่อจิตใจ ก่อให้เกิดความเครียดได้มาก โดยแต่ละคน แต่ละครอบครัว ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก จะมีวิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน และปัญหาเพราะสภาพจิตใจของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกัน ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจิตใจได้มาก ได้แก่ ...
ผู้ที่สูญเสียมาก เช่น ญาติเสียชีวิต สูญเสียไร่นา แหล่งรายได้ ขณะที่แหล่งช่วยเหลือน้อย เช่น เครือญาติและชุมชนรอบข้างที่พร้อมให้ความช่วยเหลือมีจำกัด ยังมีปัญหาอื่น ๆ อยู่เดิม เช่น มีโรคประจำตัว พิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เจ็บป่วยทางจิตอยู่เดิม
นอกจากนี้ยังอยู่ในชุมชนที่ขาดระบบการจัดการเพื่อช่วยเหลือกันเอง ปัญหาทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นได้ จะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสูญเสียและปัญหาที่เกิดจากสภาพวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม ก่อให้เกิดความกังวลใจ เศร้าโศกเสียใจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สับสน
รวมทั้งยังมีอาการทางกายของความเครียด เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ บางรายอาจพบกับเหตุการณ์ตื่นตกใจและเกิดอาการผวา หากความเครียดเป็นอยู่นานก็จะกระทบต่อสภาพร่างกาย ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ที่มีโรคประจำตัวก็อาจมีการกำเริบของโรคขึ้นได้
สำหรับผู้ที่เครียดมากๆ แล้วขาดแหล่งช่วยเหลือ อาจเก็บตัว ไม่พูดคุย ท่าทางเคร่งเครียด ท้อแท้ เศร้าหมอง และในบางรายอาจรู้สึกสิ้นหวังจนถึงกับคิดฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้าที่เป็นมากจนความสามารถในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติเสียไป เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีพลังในการทำกิจวัตรประจำวัน
หากเป็นนานต่อเนื่องเกินกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไปอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากพบว่าใครมีความเครียดหรืออารมณ์เศร้าต่อเนื่อง และรบกวนการดำเนินชีวิต ก็ควรได้รับการดูแลทางสุขภาพจิตจากสถานบริการใกล้บ้าน
ทั้งนี้ ช่วงนี้ไปจนถึงหลังน้ำลดจำเป็นจะต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจที่สำคัญคือ การใช้พลังชุมชนช่วยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ แต่ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เขารู้สึกว่า ชีวิตเขา เขาจัดการแก้ไขได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกับคนในละแวกบ้านเดียวกัน ในชุมชนเดียวกัน ช่วยให้กลับสู่การดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติอย่างเร็วที่สุด
หรือจะเป็นการช่วยค้นหาผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา เช่น ผู้มีเหตุสูญเสียรุนแรง ผู้มีแหล่งช่วยเหลือจำกัด ผู้มีปัญหาอื่นๆ อยู่เดิม และในพื้นที่ที่ชุมชนยังอ่อนแอ และเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อนำวิถีการดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด หากพบปัญหาเจ็บป่วยทางกายหรือใจก็ให้การดูแลช่วยเหลือ
ส่วนการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตนเองและคนใกล้ตัว ก็สามารถใช้หลักพื้นฐานของการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลี่ยงสารเสพติด นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายด้วยวิธีง่ายๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลาย ปล่อยวางให้ได้เท่าที่สภาพสิ่งแวดล้อมจะเอื้อ
พูดคุยกับคนใกล้ตัว ไม่เก็บปัญหาไว้กับตนเอง ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาของตัวเอง เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ มองโลกแง่ดี มีความหวัง และที่สำคัญ กลไกของราชการที่เข้าช่วยเหลือต้องเน้นที่การช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชน ให้ชุมชนได้เป็นเจ้าของการแก้ปัญหา แทนการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์แต่เพียงอย่างเดียว
ส่วนคนที่ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาทางไหนดี ให้ปรึกษาได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง เพราะมีขีดความสามารถในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว และหากบุคลากรสาธารณสุขพบว่าปัญหามีความซับซ้อนเกินความสามารถก็จะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เหมาะสมต่อไป หรือหากต้องการใช้ระบบโทรศัพท์ในการปรึกษาปัญหา ก็สามารถใช้โทร.สายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1667 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
แนะการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในช่วงน้ำท่วม
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแนะการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในช่วงน้ำท่วมโดยห้ามใช้ยานพาหนะ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ในการอพยพหนีน้ำท่วมอย่างเด็ดขาด เพราะความแรงของกระแสน้ำอาจพัดพาหนะจมน้ำ รวมถึงหลีกเลี่ยงการเดินข้ามลำน้ำที่มีระดับน้ำสูงเหนือเข่าและไหลเชี่ยวกราก เพราะอาจถูกน้ำพัดหรือได้รับอันตรายจากท่อนไม้ ก้อนหิน ที่ลอยมาตามน้ำได้ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือพายเรือเข้าใกล้เสาไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด รวมถึงไม่เข้าไปในบริเวณทางน้ำไหลผ่านหรือร่องน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีรอยแยกของหน้าดิน เพราะหากมีฝนตกลงมาซ้ำ ดินอาจอุ้มน้ำไว้ไม่ไหวและพังถล่มลงมาได้
อีกทั้งไม่ลงเล่นน้ำหรือจับปลาในบริเวณที่น้ำท่วม เนื่องจากความแรงของกระแสน้ำอาจพัดพาให้จมน้ำเสียชีวิตได้ เพิ่มความระมัดระวังสัตว์มีพิษที่อาจหนีน้ำขึ้นมาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน เช่น งู ตะขาบ ควรสวมรองเท้าบู๊ตทุกครั้งที่ต้องเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันการเหยียบเศษวัสดุที่อยู่ใต้น้ำ เช่น เศษแก้ว กระเบื้อง ตะปู
หากต้องเดินลุยน้ำในช่วงกลางคืนควรใช้ไฟฉายและถือไม้นำทางตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเดินตกท่อระบายน้ำที่น้ำท่วมจนมองไม่เห็น ในการช่วยเหลือคนตกน้ำให้ใช้ห่วงยาง ลูกมะพร้าว หรือโยนเชือกให้คนที่ตกน้ำยึดตัวเองไว้ จะปลอดภัยมากกว่าการลงไปช่วยด้วยตัวเอง
ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยสามารถขอความช่วยเหลือที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง