วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เหตุผลที่ภาพวาดปีกัสโซทุบสถิติ “ผลงานศิลปะแพงที่สุดในโลก”

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ภาพวาด “Nude, Green Leaves, and Bust” ของจิตรกรเอก “ปาโบล ปีกัสโซ” ถูกเศรษฐีนักสะสมประมูลไปในราคาสูงถึง $106.5 ล้าน หรือกว่า 3.44 พันล้านบาท ทุบสถิติผลงานศิลปะที่มีราคาประมูลสูงสุดในโลก แซงหน้า ประติมากรรมรูปคนเดิน ของศิลปิน “อัลเบอร์โต เกียโคเม็ตติ” ที่ทำราคาประมูลสูงสุด $104.3 ล้าน หรือประมาณ 3.4 พันล้านบาทเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญด้านผลงานศิลปะได้ประเมินเอาไว้ว่า ภาพวาดดังกล่าวของศิลปินปิกัสโซน่าจะทำราคาประมูลได้สูงสุดราว $90 ล้าน หรือประมาณ 2. 9 พันล้านบาท แต่แล้วภาพดังกล่าวกลับกลายเป็นผลงานศิลปะที่มีราคาประมูลสูงสุดในประวัติศาสตร์ ภายในงานประมูลศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสต์และโมเดิร์นอาร์ต (Evening Sale of Impressionist and Modern Art) ของสถาบันการประมูลคริสตี้’ส ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงนิวยอร์กเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

“ปาโบล ปีกัสโซ” จิตรกรเอกผู้ล่วงลับ (25 ตุลาคม 2424 – 8 เมษายน 2516)

ภาพดังกล่าวมีชื่อว่า “Nude, Green Leaves, and Bust” วาดโดยจิตรกรเอกชาวสเปน “ปาโบล ปีกัสโซ” เมื่อปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสาวน้อยที่มีชื่อว่า “มารี-เตเรส วอลเทอร์”

ทั้งคู่พบรักกันในกรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) ขณะที่ฝ่ายหญิงมีอายุเพียง 17 ปี ส่วนปีกัสโซ มีอายุ 45 ปีในขณะนั้น หลังลักลอบมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวโดยไม่ให้ภรรยา (นักเต้นบัลเล่ต์ชาวรัสเซีย) ล่วงรู้มานานหลายปี ในที่สุดเรื่องก็แดงออกมาเมื่อชู้รักของเขาเกิดพลาดท่าตั้งครรภ์ในปี ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478)

หลังจากมารี-เตเรส วอลเทอร์ คลอดลูกสาวชื่อ “มายา” ได้เพียง 1 ปี ปีกัสโซก็มีชู้รักใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกคน ทำให้มารี-เตเรสเกิดความหึงหวงถึงขนาดตามไปตบตีชู้รักอีกคนในสตูดิโอวาดภาพของปีกัสโซเลยทีเดียว (มารี-เตเรสฆ่าตัวตายหลังจากปีกัสโซเสียชีวิตในวัย 91 ได้เพียง 4 ปี)

สาเหตุที่ทำให้ “Nude, Green Leaves, and Bust” มีค่ามหาศาล ไม่ได้เป็นเพราะภาพนี้คือหนึ่งในสุดยอดผลงานของจิตรกรเอกชื่อดังก้องโลกอย่าง “ปีกัสโซ” เท่านั้น หากยังถือเป็นภาพที่หาดูยากและมีน้อยคนนักจะที่ได้เห็น เนื่องจากถูกเก็บรักษาไว้อย่างมิดชิดในฐานะสมบัติส่วนตัวของตระกูลโบรดี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ที่ผ่านมาภาพดังกล่าวเคยถูกนำออกแสดงที่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกครั้งเดียวเมื่อปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504)

ที่สำคัญ ภาพนี้ยังมีที่มาและความหมายอันลึกซึ้งแอบแฝงอยู่ ซึ่งนางเกลนี่ย์ส โรเบิร์ตส ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเดลิเมล์ได้อธิบายเอาไว้ ดังนี้…

1. แอบมองหลังม่าน

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าบริเวณหมายเลข 1 มีภาพใบหน้าของปีกัสโซซ่อนอยู่ตรงแบ็คกราวน์สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันผิดทำนองคลองธรรมหรือเป็นรักต้องห้ามระหว่างเขากับมารี-เตเรส

2. ภาพดับเบิ้ล หรือภาพส่วนศีรษะ

เหนือร่างอันเปลือยเปล่าของมารี-เตเรส ปรากฏภาพส่วนศีรษะของเธอตั้งอยู่บนแท่นหรือเสารูปทรงคลาสสิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปีกัสโซชื่นชมและยกย่องในตัวเธอเป็นอย่างมาก

3. ใบไม้รูปหัวใจ

ต้นไม้ในภาพให้ความรู้สึกพลิ้วไหว มีชีวิตชีวา เหมือนกำลังเจริญงอกงาม และมีใบไม้สีเขียวใบหนึ่งที่เป็นรูปหัวใจ ซึ่งหมายถึงความรักที่เขามีต่อเธอ

4. เงาดำ

ภาพเงาดำที่พาดผ่านร่างอันเปลือยเปล่าของมารี-เตเรสยังคงสร้างความพิศวงให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะ จึงมีการตีความที่หลากหลายแตกต่างกัน โดยเฉพาะเงาดำที่อยู่บริเวณลำคอ บางคนกล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของและแอบครอบครอง (เป็นชู้รัก) ขณะที่บางคนบอกว่าเงาดำบริเวณลำคอถือเป็นการยกย่องภาพวาดของศิลปิน “อองรี มาติสส์” ที่อยู่ในความครอบครองของปีกัสโซ (มาติสส์ เคยวาดภาพลูกสาวคนโตสวมโช้คเกอร์หรือสร้อยแบบติดคอสีดำ)

5. ผลไม้ต้องห้าม

ปีกัสโซ วาดภาพผลแอปเปิ้ลที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผลไม้ต้องห้าม” อันเป็นสัญลักษณ์ของแรงดึงดูดทางเพศตามพระคัมภีร์เดิม ซึ่งในที่นี้หมายถึงมารี-เตเรสนั่นเอง

โฉมหน้า “มารี-เตเรส วอลเทอร์”


หลายคนเชื่อว่า เศรษฐีนิรนามที่เข้าร่วมการประมูลทางโทรศัพท์และเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้น่าจะเป็นเศรษฐีใหม่จากประเทศรัสเซีย แต่ผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปะสงสัยว่าอาจจะเป็นนายสตีฟ เอ. โคเฮน ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟัน ในแคลิฟอร์เนีย ที่เป็นเจ้าของผลงานศิลปะมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท และอยากได้ภาพวาดมารี-เตเรสของปีกัสโซมานานแล้ว

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพขยาย

สำหรับผลงานศิลปะที่เคยขึ้นแท่น “ราคาประมูลสูงที่สุดในโลก” ก่อนหน้านี้ คือประติมากรรมรูปคนเดินที่มีชื่อว่า“Walking Man I” ของอัลเบอร์โต เกียโคเม็ตติ ซึ่งถูกเศรษฐีนีคนหนึ่งประมูลไปในราคา $104.3 ล้าน หรือประมาณ 3.4 พันล้านบาทเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่วนผลงานของปีกัสโซที่เคยทำสถิติราคาประมูลสูงสุดก่อนหน้านี้ คือภาพวาด “Boy With a Pipe (The Young Apprentice)” ซึ่งขายได้ราคาสูงสุด $104.2 ล้าน หรือประมาณ 3.37 พันล้านบาท เมื่อปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)

“Boy With a Pipe (The Young Apprentice)”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น